ประวัติความเป็นมา

การจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ปี พ.ศ. 2535ได้กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 9,000 ไร่ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ภายใต้ชื่อ อุทยานการศึกษา เพื่อเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี “กาญจนาภิเษก” และเพื่อสนองแนวพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาวัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

แนวคิดหลักของการจัดทำโครงการอุทยานการศึกษา คือ การใช้พื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัยและตลอดชีวิต เน้นการสร้างความหลากหลาย ดุลยภาพและความตระหนักในคุณค่าของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น จริยธรรม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การสร้างอุทยานการศึกษาใช้วิธีบูรณาการองค์ความรู้และทรัพยากรจากหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบและมีการจัดการศึกษาแบบสหวิทยาการ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมุ่งใช้อุทยานการศึกษาเพื่อเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การประชุมสัมมนา การฝึกอบรม การเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ การจัดนิทรรศการและการแสดง รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สร้างสุนทรียภาพและจิตสำนึกในคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความเป็นท้องถิ่น ความเป็นชาติและความเป็นสากล โครงการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยมีมติอนุมัติโครงการ เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2539 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  พระราชทานชื่อ อุทยานการศึกษา  “ เฉลิมพระเกียรติ ”  เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2539

 

คณะดำเนินงานโครงการอุทยานการศึกษา “เฉลิมพระเกียรติ” มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ชุดแรกซึ่งมี  นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายปฏิบัติการ เป็นหัวหน้า มีคณาจารย์ และพนักงานสายปฏิบัติการรุ่นบุกเบิก จำนวน 34 คน ได้ร่วมประชุมพิจารณาผังบริเวณอุทยานการศึกษาให้มีความเหมาะสมตามกิจกรรมและสอดคล้องกับผังการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยได้แบ่งกิจกรรมทั้งหมดออกเป็น 11 กิจกรรม ใช้ชื่อว่า “อุทยาน” เป็นหลัก พร้อมทั้งได้กำหนดแนวทางและรูปแบบการดำเนินงานของอุทยานต่างๆ ไว้เบื้องต้นดังนี้

 

  1. อุทยานเทอดพระเกียรติ  เป็นหอสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ภายในประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการ  7  ส่วน   คือ    ส่วนเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล

อดุลยเดชมหาราช ส่วนหอจดหมายเหตุ ส่วนร่างกายและจิตใจมนุษย์ ส่วนภูมิภาคศึกษา ส่วนธรรมชาติศึกษา  ส่วนสิ่งแวดล้อมศึกษา และส่วนจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน

 

  1. วนอุทยาน  เป็นพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูป่าธรรมชาติในเขตมหาวิทยาลัยให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมให้มากที่สุด ประกอบด้วยเขตพื้นที่ฟื้นฟูป่า เขตอนุรักษ์พิเศษสำหรับฟื้นฟูพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ตามธรรมชาติและสวนสัตว์ป่าเปิด

 

  1. อุทยานพฤกษศาสตร์  เป็นแหล่งปลูกสร้างสวนพฤกษศาสตร์ เพื่อจัดหา รวบรวม ปลูกบำรุงรักษาและจัดแสดงพันธุ์ไม้วงศ์ต่างๆของประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง ให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านพันธุ์พืชและอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่นตามสภาพนิเวศแบบต่างๆของพื้นที่เดิม ตลอดจนพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ตามธรรมชาติ แหล่งเรือนพักรับรองนักเรียนค่ายโอลิมปิกวิชาการ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ