ภาพมุมสูงของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
18 พฤษภาคม 2567 วันพิพิธภัณฑ์สากล
        พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (MAHA CHAKRI SIRINDHORN NATURAL HISTORY MUSEUM WALAILAK UNIVERSITY)

        มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการวิจัยในระดับสากลได้มีความตระหนักถึงความสำคัญในการนำองค์ความรู้จากสหวิชาการที่ได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ไปใช้เป็นฐานในการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยมีการคัดเลือกองค์ความรู้จากงานวิจัยและบริการวิชาการที่ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. นำผลงานจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้แนวคิด “จากยอดเขาถึงใต้ทะเล” นำเสนอแก่นเรื่อง (Theme) คือ อพ.สธ.-มวล. อนุรักษ์และพัฒนาฐานทรัพยากรจากยอดเขาถึงใต้ทะเล เพื่อประโยชน์แท้แก่มหาชน เป็นผลงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการสนองพระราชดำริทั้งการวิจัยเชิงพื้นที่ (Area-Based Research) จากยอดเขาถึงใต้ทะเล และการวิจัยเชิงประเด็น (Issue-Based Research) คือ ฐานทรัพยากร (ทรัพย์สิ่งสินตน) แกนเรื่องที่จัดแสดงนำเสนอโดยลำดับเรื่องตามพื้นที่ซึ่งออกแบบแนวคิดและเนื้อหานิทรรศการโดยคณะอนุกรรมการฝ่ายนิทรรศการภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งด้านสังคมศาสตร์และมนุษยวิทยา ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และด้านศิลปศาสตร์ โดยแต่ละห้องจัดแสดงเนื้อหานำเสนอใน 2 ด้าน ด้านแรก คือ ความรู้ทั่วไปเชิงพื้นที่ ด้านที่สอง คือ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ผ่านการนำเสนอเป็น 8 ห้องหลัก คือ
        1. ห้องเกริกไกรเจ้าฟ้านักอนุรักษ์
        2. ห้องหวนดูทรัพย์สิ่งสินตน
        3. ห้องเขาหลวงทรัพยากรมากมี
        4. ห้องศักยภาพมากล้นมีให้เห็น
        5. ห้องทรัพยากรลุ่มน้ำปากพนัง
        6. ห้องชายฝั่งอุดมสมบูรณ์
        7. ห้องบริบูรณ์ทรัพยากรอ่าวไทย
        8. ห้องประโยชน์แท้แก่มหาชน
        เพื่อบอกเล่าถึงพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการทรงสืบสานพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศวร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การสนองพระราชดำริฯ โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มวล. เพื่อให้ชุมชนสามารถนำทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอยู่เพื่อการอนุรักษ์ พัฒนา และต่อยอดให้เกิดประโยชน์แท้แก่มหาชนสืบไป 

        โดยมุ่งหวังให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการปลูกฝังจิตสำนึกรักทรัพยากรให้เกิดขึ้นในจิตใจของเยาวชนและผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฯ ดังพระราโชวาทของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า “การรักทรัพยากร คือ การรักชาติ รักแผ่นดิน”
Facebook Comments Box