อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยลักษณ์ มีพื้นที่ประมาณ 1,350 ไร่ รองรับการบริการวิชาการ และเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย ให้แก่นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไปเข้ามาใช้บริการ รวมไปถึงการดำเนินการเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับอุทยานพฤกษศาสตร์   โดยมีพื้นที่หลักๆ  ประกอบด้วย

        1. พื้นที่ป่าดั้งเดิม   ซึ่งสามารถพบไม้พื้นเมือง เช่น มะเมื่อย พุดน้ำ ชุมแสง ฯลฯ  นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ได้ปรับปรุงพัฒนาให้มีหอคอยที่ระดับความสูง 25 เมตร เพื่อชมเรือนยอดไม้ รวมไปถึงการจัดทำเส้นทางเดินเชื่อมระหว่างหอคอยชมเรือนยอดไม้ จำนวน 2 หอคอย พื้นที่ด้านล่างของสะพานเรือนยอดยังเป็นแหล่งเรียนรู้สัตว์ขนาดเล็กที่อุทยานพฤกษศาสตร์ได้นำมาจัดแสดงในพื้นที่ธรรมชาติ

        2. พื้นที่สำนักงาน เรือนพักรับรอง ที่ได้รับมาตรฐาน SHA เป็นส่วนใจกลางของอุทยานพฤกษศาสตร์  โดยตัวอาคารหันหน้าเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  บรรยากาศร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ  โดยสามารถให้บริการห้องพักทั้งระบบเครื่องปรับอากาศและพัดลมพักได้ถึง 150 คน มีห้องประชุมขนาดเล็กรองรับบริการอบรม ค่าย สัมมนา และมีลานกางเต็นท์ แคมป์ไฟ ให้บริการได้อีกทางหนึ่ง  ผู้เข้าพักกางเต็นท์สามารถชื่นชมธรรมชาติอ่างเก็บน้ำได้ในช่วงของการเข้ารับบริการ

       3. สวนสมุนไพร ในพื้นที่ 10 ไร่ เป็นบริเวณที่ได้รับการพัฒนาให้มีการรวบรวมพืชสมุนไพร  ตามหลักสาธารณสุขพื้นฐานและตามการใช้ประโยชน์ของการเรียนการสอนให้กับสำนักวิชาเภสัชศาสตร์  และสำนักวิชาแพทยศาสตร์  และแพทย์แผนไทย ทั้งนี้การดำเนินงานอยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานพฤกษศาสตร์ในการจัดหาพืชสมุนไพรมาปลูกรวบรวมไว้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบขณะนี้มีสมุนไพรมากกว่า 200 ชนิด และได้จัดทำป้ายสื่อความหมายให้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมได้รับทราบถึงประโยชน์ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด นับได้ว่าเป็นสวนสมุนไพรที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงามเหมาะแก่การวิ่ง และเดินออกกำลังกายในสวนอีกด้วย 

      4. พื้นที่ก่อสร้างอาคาร “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” แนวคิดในการออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์       ( MAHA CHAKRI SIRINDHORN Natural History Museum, Walailak University ) ได้ออกแบบอาคารเป็นเลข 8 สื่อความหมายถึงความต่อเนื่องยั่งยืน (Infinity) ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมภูมิปัญญา มีลานจำลองน้ำตกกรุงชิง สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของเทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช และลานจำลองทะเลเทียมและชายหาด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอ่าวไทย  ตามแนวคิด “ตามรอยเจ้าฟ้าจากยอดเขาสู่ใต้ทะเล” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตัวอาคารตั้งอยู่ริมอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ภายในอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีฉากหลังเป็นเทือกเขาหลวง
        จากแนวคิดการจัดแสดงนิทรรศการทั้ง 8 ห้องที่ประกอบเข้าไปในอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นการรวบรวมองค์ความรู้และอัตลักษณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมภูมิปัญญาของภาคใต้ นำเสนอผ่านสื่อนิทรรศการดังกล่าว ซึ่งมีการนำสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจกระตุ้นการเรียนรู้แก่ผู้เข้าชม ให้มีความสนุกเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้เชิงวิชาการเป็นแหล่งกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน และเกิดภาพความทรงจำที่เต็มไปด้วยความประทับใจแล้วอยากกลับมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แห่งนี้อย่างไม่รู้จบ ดังแนวคิดการออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ได้ออกแบบเป็นเลข 8 สื่อความหมายถึงความต่อเนื่องยั่งยืน (Infinity) ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้ดารงอยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนสืบไป

      5. พื้นที่อาคารการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และภูมิปัญญา” โดยตัวอาคารการเรียนรู้ เป็นแหล่งให้บริการวิชาการแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่อง  โดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการและสามารถเลือกทำกิจกรรมตามโปรแกรมที่วางไว้ได้  รวมไปถึงสามารถเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการของห้องภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับป่าจากลุ่มน้ำปากพนัง ห้องจัดแสดงสัตว์สต๊าฟ เช่น สัตว์เลื้อยคลาน กระรอก หนูผี นกชนิดต่าง เต่าตนุ  ผีเสื้อ รวมไปถึงจัดแสดงโครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่  การจัดห้องร่างกายมนุษย์ที่แสดงอวัยวะของร่างกายมนุษย์ที่นำมาเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สามารถมองเห็นได้จริง และห้องดาราศาสตร์เพื่อศึกษาดวงดาว  เหมาะแก่การเรียนรู้ของคนทุกเพศ ทุกวัย  และพื้นที่ใกล้เคียงอาคารการเรียนรู้และภูมิปัญญา ยังเป็นแหล่งรวบรวมสายพันธุ์กล้วยมากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งกล้วยที่ปลูกรวบรวมไว้จะประกอบไปด้วย  กล้วยประดับ เช่น กล้วยบัวส้ม กล้วยดารารัศมี ที่มีปลีสีสันสวยงาม กล้วยกินสด ส่วยกล้วยที่สามารถนำมากินสุกได้เลย เช่น กล้วยน้ำว้า สาวกระทืบหอ ไข่ หอมทอง ฯลฯ   ภายในสวนมีป้ายสื่อความหมายบอกชนิดของกล้วยแต่ละชนิดกำกับไว้ เพื่อให้สามารถเป็นสื่อของการเรียนรู้สามารถสแกน QR Code ศึกษารายละเอียดเชิงลึก  และยังมีการจำหน่ายหน่อกล้วยชนิดต่างๆ   ซึ่งสามารถนำไปปลูกสะสม ขยายพันธุ์ สู่ชุมชน

      6. บริเวณทางเข้าอุทยานพฤกษศาสตร์  เป็นจุด check in  ที่ได้รับการพัฒนาให้มีสถาปัตยกรรมที่นำสมัยที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำ  อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา  และแนวเขาหลวงที่ทอดยาวไปกับจุด check in ของป้ายอุทยานพฤกษศาสตร์ ทุกวันพฤหัสบดีจัดให้มีตลาด Bota Market  ภายใต้แนวคิดตลาดสีเขียวเพื่อชุมชน   ภายใต้เนินดินยังมีห้องเพื่อจัดเป็น ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก  ห้องสปาและนวดและร้านกาแฟที่ได้รวบรวมกาแฟพันธุ์พื้นเมืองมาจัดจำหน่ายให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมอีกด้วย    นอกจากนั้นบริเวณที่ยังเป็นจุดจอดรถ จุดขายตั๋ว โดยจะมีไฟฟ้าคอยให้บริการเข้าเยี่ยมชมภายในบริเวณต่างๆ ของอุทยานพฤกษศาสตร์อีกด้วย

          อุทยานพฤกษศาสตร์ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2565  จะดำเนินการจัดทำโรงเรือนกล้วยไม้ขนาดใหญ่ และโรงเรือนอื่นๆ   อีกจำนวน 8 โรงเรือน ที่นำมาจัดแสดงเลียนแบบธรรมชาติ ให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชม และมีแปลงรวบรวมพันธุ์ไผ่ ภายใต้แนวคิด Bamboo Village  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และพักผ่อนหย่อนใจแก่ผู้มาเยือน

          ทั้งนี้อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นที่สุดในภาคใต้