พรรณไม้ป่าปกปักของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
พรรณไม้ป่าปกปักของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

     การสำรวจและศึกษาสังคมพืชในเขตป่าอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นโครงการวิจัยที่เกิดขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งสอดคล้องกับโครงการในแผนแม่บทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปี พ.ศ. 2534 ที่กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่ 9,000 ไร่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยของคนในชุมชน ภายใต้ชื่อ “อุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ” หนึ่งในแหล่งเรียนรู้ทั้งหมดก็คือ อุทยานพฤกษศาสตร์และวนอุทยาน แหล่งเรียนรู้ดังกล่าวนี้ถูกกำหนดให้มีการศึกษา สำรวจพรรณไม้ท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีค่าอันเป็นเอกลักษณ์ของผืนป่าของมหาวิทยาลัย ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นโดยคณะนักพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (2538) พบว่า ป่ามีความหลากหลายของพรรณไม้ 219 ชนิด สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าพรุเสื่อมโทรมที่ถูกบุกรุกยึดครองเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของราษฎรประมาณ 800 ครัวเรือนที่เข้ามาอยู่อาศัยอย่างยาวนานหลายชั่วรุ่นและพื้นที่บางส่วนกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ นาข้าว สวนเกษตรของประชาชนทั่วไป เหลือผืนป่าขนาดต่าง ๆ กัน กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดที่แสดงให้เห็นกลไกของการพัฒนาที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงแทนที่ (Succession) เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพป่าดิบชื้นระดับตํ่าใกล้ระดับนํ้าทะเล ความหลากหลายของพรรณไม้จากรายงานผลการศึกษาสังคมพืชในเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่ามีพันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ถึง 313 ชนิด พันธุ์ไม้เด่นประกอบด้วยเสม็ดขาว (Melaleuca quinquenervia) เสม็ดแดง (Syzygium gratumไม้นิงหรือไม้ดำ (Diospyros brandisiana) มะเมื่อย (Gnetum montana) พลอง (Memecylon sp.) ไม้ชุมแสง (Xanthophyllum gluacum) พุดนํ้า (Gardenia campanulatum) นมแมว (Uvaria siamensisยางพารา (Hevea brasiliensis) ยางนา (Dipterocarpus alatus) แซะ (Callerya atropurpureaหว้าหิน (Syzygium grandis) ส้านใหญ่ (Dillenia ovata) เชียด (Cinnamomum iners) รวมทั้งพืชกลุ่มเฟิร์น กลุ่มปาล์มและไม้เลื้อยชนิดต่างๆ ที่เจริญเติบโตในบริเวณพื้นที่ป่าพรุแห่งนี้มาก่อน นับว่าเป็นผืนป่าอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจและเหมาะต่อการศึกษาเรียนรู้ด้านพืชพันธุ์ชนิดต่าง ๆ เป็นอย่างมากด้วยเหตุนี้อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงได้กำหนดและจัดทำแนวเขตป่าอนุรักษ์เพื่อหยุดยั้งการรุกลํ้าเข้ามารบกวนด้วยกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาของป่าภายในเขตอุทยานพฤกษศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ายังมีการบุกรุกเข้ามาหาวัตถุดิบและผลผลิตจากพืชป่าชนิดต่างๆ อยู่เสมอ เช่น การเข้ามาหาย่านลิเภาไปใช้ทำเครื่องจักรสาน เข้ามาตัดยอดหวายไปเป็นอาหาร ตัดไม้ไปทำเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ เช่น ด้ามจอบ ด้ามพร้า นอกจากนี้ยังพบว่ามีธุรกิจการค้าขายพรรณไม้หายากได้เข้ามาลักลอบขุดล้อมพันธุ์ไม้หายากออกไปขายอย่างต่อเนื่องทำให้พันธุ์ไม้เด่นที่เคยพบเห็นหลายชนิดหายไปจากป่าของมหาวิทยาลัย

ฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

     ดังนั้นเพื่อปกปักรักษาผืนป่าดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของถิ่นไว้ให้คงอยู่คู่มหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนจึงเห็นควรกำหนดเขตรั้วและออกประกาศเป็นผืนป่าปกปักอย่างจริงจังพร้อมทั้งมีการศึกษาข้อมูลพรรณไม้อย่างละเอียด อันจะก่อให้เกิดองค์ความรู้และเห็นคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ของมหาวิทยาลัย นำไปสู่การวางแผนการจัดการเพื่อการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่ได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าไม้ผืนนี้ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน สมตามเจตนารมณ์ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และเจตนารมณ์ของคณะกรรมการจัดทำ
แผนแม่บทโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะผู้วิจัยจึงได้ดำเนินการสำรวจและศึกษาสังคมพืชในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

     การวิจัยภายใต้กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กรอบการเรียนรู้ทรัพยากรในการสำรวจพรรณไม้ความหลากหลายของพรรณไม้ในเขตป่าอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในพื้นที่ 168.32 ไร่ ใช้ระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ถึงกันยายน พ.ศ. 2562

     มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตระหนักและเห็นคุณค่าของป่า จึงกำหนดเขตพื้นที่ปกปักเป็นการอนุรักษ์ผืนป่าที่จะคงความสมดุลของระบบนิเวศป่าธรรมชาติเอาไว้และยังส่งเสริมให้สังคมพืชในป่าค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง มีพรรณไม้ชนิดใหม่เกิดขึ้นแทนที่พรรณไม้เดิมอย่างช้าๆ ด้วยขบวนการเปลี่ยนแปลงแทนที่ (Succession) เมื่อธรรมชาติได้ปรับตัวให้ดีขึ้นระดับหนึ่ง การพัฒนาของสังคมพืชที่เกิดขึ้น หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมของระบบนิเวศในระดับต่าง ๆ กันและในที่สุดเมื่อความสมดุลตามธรรมชาติสมบูรณ์เต็มที่พื้นที่ป่านั้นก็จะกลายเป็นป่าโดยสมบูรณ์สูงสุด ซึ่งเรียกว่า สังคมขั้นสุดยอด (Climax community) การสร้างสังคมป่าขั้นสูงสุดโดยอาศัยธรรมชาติและวันเวลาที่ไม่รบกวนหรือทำลายป่า ถือว่าเป็นการรักในทรัพยากร คือ การรักชาติรักแผ่นดินตามพระราโชวาท ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (14 สิงหาคม 2540)