ม.วลัยลักษณ์ จัดฝึกอบรมปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รุ่นที่ 2/2563 ภายใต้โครงการ อพ.สธ.

อุทยานพฤกษศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ จัดฝึกอบรมปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น หลักสูตร 6 งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รุ่นที่ 2/2563 เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิด การฝึกอบรมปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น หลักสูตร 6 งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รุ่นที่ 2/2563 โดยมี อาจารย์สุธีะ ทองขาว ผู้อำนวยการอุทยานพฤกษศาสตร์ ในฐานะผู้กำกับดูแลฝ่ายศูนย์ประสานงานและฝึกอบรมโครงการ อพ.สธ. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (อพ.สธ.-มวล.) กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดวงจิตต์ แก้วอุบล ผู้สนับสนุนมูลนิธิ โครงการ อพ.สธ.คุณมรกต วัชรมุสิก วิทยากรจากโครงการ อพ.สธ. (สำนักพระราชวัง) ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจำนวน 99 คน จาก 27 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ระหว่างวันที่ 25 – 28 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับพระราชาอนุญาตให้เป็นศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-มวล.) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งบริการวิชาการสู่ท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และศึกษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชน และปลูกฝังจิตสำนึกของเยาวชนและคนในชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้จึงได้ดำเนินการก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์และรวบรวมพันธุกรรมพืชทั้งหมดของภาคใต้ บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ ให้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้และที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากบางชนิด และได้ทำการศึกษาพันธ์ุพืชที่เป็นจุดเด่นของภาคใต้ 3 ชนิด คือ กระท่อม กัญชงและกัญชา โดยจากการศึกษาสายพันธ์กัญชาในภาคใต้พบว่า มีสายพันธ์ุที่น่าสนใจอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 3 สายพันธ์ุ คือ กัญชาสายพันธ์ุหมื่นศรี ที่มีสรรพคุณช่วยเรื่องสมรรถนะทางเพศเช่นเดียวกับไวอากร้า กัญชาสายพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดง มีความเด่นเรื่องการรักษาโรคมะเร็ง และกัญชาสายพันธุ์ปากพนัง ที่มีความโดดเด่นเรื่อง การรักษาโรคพาร์กินสัน และโรคสั่นในคนชรา โดย ม.วลัยลักษณ์ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนเพื่อเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ ในการผลิตกัญชาทางการแพทย์ และการใช้พืชสมุนไพรอื่นๆในการรักษาโรค

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ยังได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์ เปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรก ในปีการศึกษา 2564 เพื่อนำองค์ความรู้จากการค้นคว้า วิจัยพันธุกรรมพืชทั้งหมดที่เก็บรวบรวมไว้ในอุทยานพฤกษศาสตร์ มาผลิตเป็นยารักษาโรค และเป็นแพทย์ทางเลือกให้กับผู้ป่วย และทำให้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในอนาคต มีจุดเด่นในเรื่องแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่รักษาโรคโดยแพทย์แผนปัจจุบัณร่วมกับองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยโบราณ และนำมาประยุกต์เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรม พร้อมนี้ขอเชิญชวนร่วม “การประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 6” ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

Facebook Comments Box